วันจันทร์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2556

แป้งโดว์ เสริมสร้างจินตนาการ เพื่อพัฒนาการที่ดีของลูกรัก

เขียนโดย Blog for Mom and Dad ที่ 22:26
พัฒนาการเด็ก
หากพูดถึงงานศิลปะที่เด็กๆ ต่างหลงใหล และสนุกกับความยืดหยุ่น ที่สามารถสร้างสรรค์ผลงานตามจินตนาการได้อย่างไม่รู้จบ คงหนีไม่ผ้น “ศิลปะการปั้น” ซึ่งนอกจากความสนุกแล้ว ยังช่วยฝึก และเสริมพัฒนาการในด้าน “มิติสัมพันธ์” และกล้ามเนื้อมือให้กับเด็กเป็นอย่างดี เช่น มีการหยิบจับได้อย่างคล่อง เขียนหนังสือได้ดีขึ้น โดยเฉพาะความแข็งแรงของกล้ามเนื้อมือนั้น มีความสำคัญกับเด็กมาก เห็นได้จากผลการศึกษาของ “เพียเจท์” นักจิตวิทยาชาวสวิสเซอร์แลนด์ เกี่ยวกับการพัฒนาการเด็ก พบว่า ความสามารถในการคิด และทักษะทางภาษาของเด็ก เกี่ยวโยงกับพื้นฐานและประสบการณ์ด้านกล้ามเนื้อ เด็กจะไม่สามารถพัฒนาทางภาษาได้ ถ้าปราศจากพื้นฐานที่มั่นคงทางด้านประสบการณ์ออกกำลังกาย และการหยิบจับสิ่งของรอบๆ ตัว เพราะเด็กปฐมวัยจะเรียนรู้จากการที่เด็กได้สัมผัสกับสื่อวัสดุต่างๆ ผ่านประสาทสัมผัสทั้งห้านั่นเอง

แป้งโดว์ช่วยพัฒนาทักษะท้ง 2 ด้าน คือ ด้านกายภาพ เช่น กล้ามเนื้อมัดเล็ก ซึ่งในส่วนนี้ เด็กยุคใหม่จะเริ่มมีปัญหากันมาก เพราะเล่นแต่เกมคอมพิวเตอร์ และคลิกเมาส์อย่างเดียว ส่งผลให้จับปากกาไม่ได้ เพราะกล้ามเนื้อมัดเล็กไม่แข็งแรง ส่วนด้านที่ 2 คือเรื่องของ อารมณ์ งานปั้นแป้งโดว์จะช่วยฝึกสมาธิ ทำให้เด็กซน สามารถนั่ง และจดจ่ออยู่กับสิ่งที่ทำได้นานขึ้น นอกจากนี้ ยังจะช่วยในเรื่องของมิติสัมพันธ์ ทำให้เด็ก สามารถมองภาพที่เป็น 3 มิติ ได้ดีขึ้น


แป้งโดว์คืออะไร
แป้งโดว์ คือแป้งปั้นที่ให้เด็กเล่นแทนดินน้ำมัน ช่วยส่งเสริมพัฒนาการเด็ก ในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นพัฒนาการด้านร่างกาย โดยฝึกให้เด็กได้ใช้กล้ามเนื้อมัดเล็ก ได้แก่ มือและนิ้วมือ นวด คลึง และปั้นแป้งโดว์เป็นรูปต่างๆ ตามความต้องการ พัฒนาการทางด้านอารมณ์และสังคม โดยเด็กได้เล่นแป้งโดว์ด้วยความสนุกสนาน เพลิดเพลิน คุณพ่อคุณแม่และผู้ปกครองสามารถเล่นร่วมกับบุตรหลานของท่านได้ โดยเด็กจะได้พัฒนาจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ ในการปั้นแป้งโดว์เป็นรูปร่างต่างๆ รวมถึงฝึกสมาธิมิติสัมพันธ์ทั้ง EQ และ IQ นอกจากนี้ แป้งโดว์ยังเล่นง่าย จัดเก็บสะดวก เพียงนวดให้เป็นก้อนเดียวกัน และเก็บใส่กล่องให้มิดชิด อีกทั้งไม่เป็นอันตรายต่อเด็ก เนื่องจากส่วนผสมที่ใช้ทำแป้งโดว์ไม่มีสารพิษ ปราศจากสารกันบูดใดๆ ส่วนประกอบทั้งหมดมาจากส่วนผสมที่ใช้ทำขนม 100% และใช้สีผสมอาหารในการทำ แถมมีกลิ่นหอม เสริมสร้างทักษะเด็กในด้านประสาทสัมผัสอีกด้วย

ข้อดีของแป้งโดว์
ข้อดีของแป้งโดว์ คือมีความเหนียวและความอ่อนตัวกว่าดินน้ำมัน ทำให้สามารถตัดแบ่งและปั้นรูปทรงได้พลิกแพลงกว่า อีกทั้งยังไม่มีกลิ่นของดินน้ำมันและน้ำมันเปื้อนติดมือ การปั้นแป้งโดว์ช่วยพัฒนากล้ามเนื้อของเด็กให้แข็งแรงขึ้น เพื่อฝึกเป็นทักษะให้เด็กสามารถหยิบจับดินสอขีดเขียนได้อย่างมั่นคง เตรียมพร้อมสู่วัยอ่านเขียนเรียนหนังสือต่อไป กลิ่นและสีผสมอาหารที่ใช้ทำแป้งโดว์ควรเลือกที่มี อย. รับรอง เมื่อส่วนผสมทุกอย่างปลอดภัยไม่มีสารเคมีเจือปน เด็กทานได้แต่เค็มมาก อย่างไรก็ตามเวลาเด็กเล่นผู้ปกครองควรดูแลอย่างใกล้ชิด และสอนเด็กว่าเป็นของเล่น อย่ากิน เด็กๆ เห็นสีสดใสมักจะชอบเอาเข้าปาก

ประโยชน์ของการเล่นแป้งโดว์
• พัฒนากล้ามเนื้อมือกล้ามเนื้อมัดเล็ก มือและนิ้วมือ ในการนวด นวด คลึง และปั้นแป้งโดว์
• พัฒนากล้ามเนื้อมือกล้ามเนื้อมัดใหญ่ แขนหยิบจับ ยกแป้งโดว์เล่น
• พัฒนาประสาทสัมพันธ์ สอดคล้องระหว่างตากับมือ ระหว่างที่ปั้นแป้งโดว์
• พัฒนาทักษะทางด้านภาษาในการอธิบายผลงานของตนเอง
• พัฒนาความคิดสร้างสรรค์และเสริมสร้างจินตนาการ
• ฝึกสมาธิทำให้เด็กจดจ่อกับงานที่ทำได้นานมากขึ้น
• ผ่อนคลายอารมณ์เกิดความสนุกสนานเพลิดเพลินขณะทำกิจกรรม
• เสริมสร้างความภูมิใจในตัวเอง พึงพอใจในผลงานของตน
• พัฒนาการทางด้านสังคม โดยเด็กสามารถเล่นแป้งโดว์ร่วมกับเพื่อน พี่น้อง คุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครอง และญาติผู้ใหญ่ได้
• ฝึกนิสัยการเก็บของเล่นให้เป็นที่ การรักษาของ เพราะหลังจากเล่นเสร็จแล้วต้องเก็บแป้งโดว์ให้มิดชิด และดูแลแป้งโดว์ให้มีอายุนานขึ้นเพื่อที่จะนำมาเล่นได้อีกในครั้งต่อไป
• แป้งโดว์สูตรที่มีกลิ่นหอม ฝึกทักษะการเรียนรู้ ผ่านประสาทสัมผัสทางการดมกลิ่นได้เป็นอย่างดี

พัฒนาการเด็กในการเล่นแป้งโดว์
1-2 ปี : หยิบ ขยำ กด ทุบแป้งโดว์ให้แผ่ออก มีลักษณะการใช้มือแบบกำทั้ง 5 นิ้ว
2-3 ปี : ดึงแป้งโดว์ออกจากกันเป็นก้อนๆ มีลักษณะการกำหรือใช้นิ้ว และตัดแป้งโดว์ด้วยอุปกรณ์ต่างๆ ได้
3-4 ปี : ปั้นแป้งโดว์และคลึงเป็นเส้นยาว คลึงเป็นลูกบอล และกดเป็นแผ่นแบนกลมด้วยฝ่ามือ
4-5 ปี : ปั้นแป้งโดว์เป็นรูปร่าง ที่เด็กอาจจะเข้าใจความหมายได้คนเดียว
5 ปีขึ้นไป : ปั้นแป้งโดว์เป็นรูปร่างที่มีรายละเอียด ผู้อื่นเข้าใจความได้ มีการใช้อุปกรณ์ต่างๆ ช่วยในการปั้น

ส่วนผสมและอุปกรณ์
แป้งโดว์มาจากส่วนผสมที่ทำขนม 100% ส่วนผสมและอุปกรณ์ที่ต้องเตรียมมีดังนี้
           1. แป้งอเนกประสงค์ 1 ถ้วยตวง 
           2. เกลือป่น 1 ถ้วยตวง 
           3. น้ำร้อน 1 ถ้วยตวง
           4. ครีมออฟทาร์ทาร์ 1 ช้อนโต๊ะ
           5. น้ำมันพืช 1 ช้อนโต๊ะ
           6. สีผสมอาหาร 1 ช้อนโต๊ะ
           7. กลิ่นผสมอาหาร 1 ช้อนโต๊ะ
           8. ภาชนะผสมแป้ง
           9. กะทะเทฟลอน
           10. พายสำหรับกวนแป้ง
           11. ถาดสำหรับนวดแป้ง
           12. กระปุกหรือถุงซิปล็อกสำหรับเก็บแป้งโดว์

วีธีทำ
1. นำส่วนผสมทั้งหมดผสมลงในภาชนะผสม คนให้เข้ากัน (สูตรนี้ใช้ ผสม 1 สี)
2. เมื่อส่วนผสมเนียนดีให้เทใส่กะทะเทฟลอน (แป้งจะไม่ติดกระทะ) ตั้งไฟอ่อนๆ กวนแป้งตลอดเวลา (การขึ้นตั้งไฟทำให้สุกด้วย จะชวยยืดอายุให้แป้งโดว์เล่นได้นานขึ้น) เมื่อแป้งจับตัวเป็นก้อน ใช้ไม้พายบี้แป้งให้แบออก แล้วกลับข้างเรื่อยๆ (สังเกตุดูแป้งจะดูเหลืองดีแล้ว ยกลง พักแป้งไว้)
3. พอแป้งเริ่มเย็น จึงนวดให้เข้ากัน สามารถนำไปให้เด็กๆ เล่นพร้อมอุปกรณ์เล่นแป้งโดว์ได้ตามต้องการ

วิธีเก็บรักษา
หลังจากที่เด็กเล่นแป้งโดว์เสร็จแล้วควรเก็บใส่ภาชนะที่มีฝาปิดสนิทเสมอ ควรเก็บแป้งโดว์เก็บไว้ใน กระปุก หรือถุงซิปล็อค แล้วเก็บไว้ในตู้เย็น ก่อนเอามาเล่นควรผึ่งรอสักนิดให้หายเย็นหน่อยแล้วสามารถเล่นได้เลย หรือถ้าเก็บไว้ในอุณหภูมิห้อง ไม่ให้ควรให้อากาศเข้า ระวังแป้งโดว์ไม่ให้โดนลม โดนแดด และความร้อนสูง ก็จะสามารถยืดอายุของแป้งขึ้นไปอีก ถ้าเริ่มมองเห็นผงเกลือเป็นจุดๆ ไม่ต้องตกใจ เป็นเพราะแป้งเริ่มแห้ง แค่หยอดน้ำต้มสุกใส่ลงไปนิดหน่อยประมาณ 2 ช้อนชา แล้วนวดให้เข้ากันก็ใช้ได้เหมือนเดิมแล้ว แป้งโดว์มีอายุการใช้งานสั้น-ยาวขึ้นอยู่กับอากาศและการเก็บรักษา เพราะแป้งโดว์ทำมาจากส่วนผสมที่ใช้ทำขนมและไม่ได้ใส่สารกันบูดค่ะ เพื่อสุขอนามัยที่ดีควรฝึกนิสัยให้เด็กล้างมือก่อนและหลังการเล่นแป้งโดว์

แป้งโดว์มีอายุนานเท่าไหร่
อายุการใช้งานของแป้งจริงๆ อยู่ที่การเก็บรักษา หากเด็กเอาออกมาเล่นแล้วเก็บในภาชนะที่ปิดสนิท และแช่ตู้เย็นทุกครั้ง จะมีอายุใช้งานได้นานถึง 1-2 เดือน ก่อนจะนำแป้งโดว์มาให้ลูกเล่นทุกครั้ง คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตซักนิดนะคะว่าแป้งเกินไปหรือแฉะเกินไปหรือเปล่า หากทิ้งไว้แล้วแป้งแข็งให้หยอดน้ำต้มสุกใส่ลงไปนิดหน่อยแล้วนวดให้เข้ากัน หากแป้งฉอะติดมือเกินไปให้วางผึ่งลมซักพักค่อยนำมาปั้นใหม่ ทั้งนี้ควรเปลี่ยนแป้งโดว์ให้เด็กทุกเดือน เพราะแป้งโดว์ก็เหมือนอาหารที่ไม่ได้ใส่สารกันบูด และแป้งโดว์ที่ผ่านการเล่นแล้วเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรคต่างๆ และถ้ามีเพื่อนมาเล่นด้วยกันหลายคนก็ควรเปลี่ยนแป้งโดว์ให้เด็กเร็วขึ้น

หวังว่าบทความนี้คงจะมีประโยชน์สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่กำลังมองหากิจกรรมดีดีให้ลูกเล่นนะคะ

นำบทความไปเผยแพร่ กรุณาใส่ ที่มา : www.พัฒนาการเด็ก.com
 

. Copyright © 2012 Design by Antonia Sundrani Vinte e poucos